พระร่วงกรุม่วงค่อม

เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์

พระร่วงกรุม่วงค่อม

ถ้าเอ่ยนาม “พระร่วง” จะหมายถึงพระที่ถือกำเนิดคาบเกี่ยวกันกับ ‘ขอม’ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กับ สมัยสุโขทัย ซึ่งเราเรียกกษัตริย์ครองสุโขทัยว่า ‘ราชวงศ์พระร่วง’

‘ละโว้’ หรือ ‘ลพบุรี’ ก็เช่นกัน ในอดีตเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอมสมัยเมืองพระนครมาระยะเวลาหนึ่ง ก่อเกิดเป็น ศิลปะ ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของขอมมากมาย ทั้งคติพราหมณ์ ฮินดู และพุทธมหายาน

ดังจะสังเกตได้จากพระเครื่องและพระกรุที่พบในจ.ลพบุรีนั้น จะมีพระตระกูลพระร่วงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทั้งพระร่วงนั่ง และพระร่วงยืน ที่อยู่อันดับต้นๆ ก็คือ ‘พระร่วงหลังลายผ้า’ ซึ่งเคยกล่าวถึงกันอยู่บ่อยๆ แต่มีอยู่กรุหนึ่งของลพบุรีที่มีการค้นพบพระร่วงเช่นกัน และนับว่าเป็นที่นิยมสะสมกันในแวดวงนักสะสมมาช้านาน นั่นคือ “พระร่วง กรุม่วงค่อม”

พระร่วงกรุม่วงค่อม ขุดค้นพบในราวปี พ.ศ.2516 บริเวณเนินดิน ที่บ้านม่วงค่อม ต.ม่วงค่อม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

ชื่อบ้านม่วงค่อมนี้ เดิมเรียกว่า “ม่วงขอม” เพราะขอมเคยอาศัยอยู่ ต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น “ม่วงค่อม” จึงสันนิษฐานว่า สถานที่นี้เดิมคงเป็นโบราณสถานเก่าแก่สมัยขอม (เขมร) เรืองอำนาจ เมื่อผ่านกาลเวลาอันยาวนาน จึงเสื่อมโทรมลง คงเหลือสภาพเป็นเพียงเนินดิน จึงให้นามพระเครื่องตามสถานที่ที่พบ

พระที่พบแตกกรุออกมามากกว่า 1,000 องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ส่วนพระเนื้อชินเงินมีไม่มากนัก มีพุทธศิลปะสมัยลพบุรี ยุคปลาย แต่ยังยึดศิลปะของลพบุรีอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน และชัดเจน

พุทธลักษณะ องค์พระประทับนั่ง แสดงปางสมาธิขัดราบ บนฐานลายเรียบตรงสองชั้น แบบ “ชีโบนั่ง” (คำว่า “ชีโบ” หรือ “จีโบ” หมายถึง หมวกโบราณทรงสูง) พระบาทขวาวางทับพระบาทซ้ายอย่างเห็นได้ชัด มีเส้นสร้อยพระศอ คล้ายประคำประดับ องค์พระสวมมงกุฎ แบบเรียบตรงธรรมดาหลายชั้น ไม่ใช่มงกุฎแบบทรงเทริดขนนก ซึ่งมีลวดลายแบบปิ่นแนวตั้ง ที่มีความงดงามอลังการมาก พระเศียรดูเหมือนจะใหญ่โตกว่าปกติ เมื่อเทียบกับขนาดทรวดทรงพระวรกายขององค์พระ พระกรรณทั้งสองข้างมีลักษณะยาวสวยงามลงมาจรดพระอังสา (บ่า) พระขนง (คิ้ว) ทั้งสองเชื่อมต่อกันเกือบเป็นเส้นตรง ไม่โค้งมาก พระเนตรทั้งสองข้างและพระโอษฐ์มีขนาดเล็ก พระนาสิกใหญ่ ด้านหลังเป็นแบบหลังลายผ้า (แบบหยาบ) บางองค์มีรอยแตกเป็นเส้นลายคลื่นโค้งสวยงาม

พระร่วงกรุม่วงค่อม

พระร่วงนั่งกรุม่วงค่อม อาจแบ่งออกได้เป็น พิมพ์ใหญ่, พิมพ์เล็ก และพิมพ์ฐานสูง สำหรับ ‘พระร่วงนั่ง กรุม่วงค่อม พิมพ์เล็ก’ ขุดพบมากกว่า ‘พิมพ์ใหญ่’ ลักษณะของพิมพ์เล็ก จะมีการตัดขอบเป็นรูปสามเหลี่ยมแบบชิดองค์พระ มีขนาดเล็กกว่า และขนาดจะไม่แน่นอนเสมอไป ส่วน ‘พระร่วงนั่ง กรุม่วงค่อม พิมพ์ฐานสูง’ มีขนาดใหญ่กว่าพอสมควร ที่เรียกว่า พิมพ์ฐานสูง เนื่องจากการตัดขอบส่วนฐานเหลือเนื้อเกินมาก ทำให้แลดูเหมือนฐานองค์พระสูง

สำหรับเนื้อหาของพระเนื้อชินกรุนี้ เป็นที่ต้องตาต้องใจของนักสะสมพระเนื้อชินอย่างมาก เพราะลักษณะสนิมที่เกิดขึ้น จะแดงออกเข้มจัด เหมือนสีลูกหว้า เนื่องจากพระทั้งหมดฝัง อยู่ภายใต้พื้นดิน ในกรุเป็นเวลานานหลายร้อยปี จึงปกคลุมด้วยไขขาวค่อนข้างหนา

ปัจจุบัน พระร่วงนั่ง กรุม่วงค่อม เป็นพระได้รับความนิยมสูงอีกกรุหนึ่ง ในบรรดาพิมพ์พระร่วงนั่ง เนื้อสนิมแดงลพบุรี ทั้งเนื้อตะกั่ว เนื้อชินสนิมแดง นอกจากนี้ยังมีเป็นเนื้อชินดำ ไม่มีปรอทวิ่ง คราบผิวไม่ปรากฏ มีความกรอบ เข้าใจว่าคงจะอยู่ใต้สุดของโถซึ่งแช่น้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นพิมพ์นั่งพิมพ์เล็ก ณ บริเวณเดียวกันนี้ ยังพบแม่พิมพ์องค์พระ ซึ่ง ประมาณอายุการสร้างน่าจะอยู่ในช่วงก่อนสุโขทัย ขณะที่ขอมมีอิทธิพลเหนือละโว้ อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 17-18

พระร่วงนั่ง กรุม่วงค่อม นอกจากจะเป็นพระกรุเก่าอันทรงคุณค่าแล้ว ยังมีพุทธคุณสูงส่งเป็นที่เลื่องลือทางคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาดปลอดภัยอีกด้วย

ที่มา: ข่าวสด